คันชัก ๒

ชื่อเรียกวิธีการใช้คันชักในการสีซอ ปรกติมีตั้งแต่คันชัก ๑ ถึงคันชัก ๘ โดยตัวเลขที่ต่อท้ายคันชักจะบอกจำนวนตัวโน้ตที่ใช้ในการชักคันชักเข้าหรือออก ๑ ครั้ง เช่น คันชัก ๔ หมายถึง ในคันชักเดียวมี ๔ ตัวโน้ต

 สำหรับการบรรเลงเฉพาะทางของซอแต่ละประเภท ประกอบกับความชำนาญเฉพาะบุคคล จำนวนตัวโน้ตในแต่ละคันชักอาจมีได้มากกว่าปรกติ เช่น การสีซอสามสายอาจใช้คันชักพิเศษ อาทิ

 ๑. คันชักน้ำไหล คือ การปล่อยให้คันชักเดียวกันไหลไปตามทำนองเพลงโดยไม่นับตัวโน้ต

 ๒. คันชักสะอึก คือ การชักคันชักสีให้สั้น ๆ เข้า เหมือนเสียงสะอึกสะอื้นเป็นคันชักที่ใช้ในเพลงที่มีอารมณ์โศก เช่น เพลงพญาโศก เป็นการเน้นอารมณ์เฉพาะในบางวรรค

 ๓. คันชักเอื้อน คือ คันชักที่สีเอื้อนให้เหมือนเสียงร้อง

 ตามหลักดุริยางคศิลป์ของไทย ทุก ๆ ประโยคเพลงที่สำคัญซึ่งตรงกับจังหวะฉับ จำเป็นต้องใช้คันชักเข้าเสมอจึงจะถูกต้อง หากใช้คันชักออกตรงประโยคที่สำคัญและตรงกับจังหวะฉับ ถือว่าใช้คันชักผิด